พิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าอบรมในหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพครบวงจรสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม (Wellness for Industry) รุ่นที่ 1 จำนวน 21 คน จาก 18 หน่วยงานชั้นนำในภาคเอกชน
วันที่ 10 มีนาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าอบรมในหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพครบวงจรสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม (Wellness for Industry) รุ่นที่ 1 จำนวน 21 คน จาก 18 หน่วยงานชั้นนำในภาคเอกชน ในพิธีปิดการอบรมฯ พร้อมกล่าวปิดการอบรมฯ
ในการนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง รองคณบดีฝ่ายบริหารการศึกษาและผู้รับผิดชอบหลักสูตรกล่าวสรุปการจัดทำหลักสูตรฯ ณ โรงแรม Holiday Inn & Suites จังหวัดระยอง
โครงการบริการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม
โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หลักการและเหตุผล
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักคือ การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จึงมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการ ในด้านดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ และขับเคลื่อนชุมชนสุขสภาวะ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคณะ สังคม และประเทศชาติโดยรวม คณะสาธารณสุขศาสตร์จึงมียุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ใช้การบริการวิชาการเป็นช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายและชี้นำสังคม มีการจัดหลักสูตรที่เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การรับทำวิจัย การจัดอบรมระยะสั้น/ระยะยาว ฯลฯ นอกจากนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ยังมีศูนย์สุขภาพและบริการ วิชาการด้านวิชาการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีศักยภาพและความสามารถในการให้บริการวิชาการด้านต่างๆ แก่สังคมมาเป็นเวลายาวนาน
ในปี 2565 คณะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงาน ทั้งด้านสภาพแวดล้อมความร้อน แสง และเสียง และการเก็บและวิเคราะห์ด้านสารเคมีในสถานประกอบกิจการ ของกระทรวงแรงงาน ในการนี้คณะจึงมีความประสงค์จะจัดทำโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์การบริการวิชาการต่าง ๆ ของคณะ โดยเฉพาะด้านการตรวจสภาพแวดล้อมการทำงาน และการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง และเพื่อขยายการให้บริการวิชาการสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้ได้รับบริการที่ถูกหลักวิชาการและสอดคล้องกับกฎหมาย โดยได้จัดกิจกรรมการการให้ความรู้ การชี้แนะ และการให้คำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยพื้นที่เป้าหมายคือนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
WHA เป็นบริษัทที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีโรงงานอุตสาหกรรมในความดูแลจำนวนมาก คณะจึงมีความประสงค์ขอให้พิจารณาร่วมจัดทำโครงการดังกล่าว โดยคณะจะเป็นผู้รับผิดชอบและจัดหาวิทยากรในการให้ความรู้และคำปรึกษา ขณะที่ WHA เป็นผู้ดำเนินการให้ผู้แทนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาพร้อมทั้งจัดหาสถานที่และอาหารตามความเหมาะสม
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสุขภาพในภาคอุตสาหกรรม
- เพื่อประชาสัมพันธ์การบริการวิชาการด้านต่าง ๆ ของคณะ
- เพื่อทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับสังคม (Social Engagement)
กิจกรรมโครงการ
จัดทำโครงการจัดอบรมร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรม WHA ในเรื่องเกี่ยวกับอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้มีการจัดกิจกรรมฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด (ระยอง) ใน 4 หัวข้อ ดังนี้
หลักสูตร | วันที่ | จำนวนผู้เข้าอบรม (คน) |
---|---|---|
การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ | 17 มีนาคม 2566 | 78 |
อันตรายทางเคมีและการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง | 27 มีนาคม 2566 | 86 |
การระบายอากาศในโรงงานอุตสาหกรรม | 3 เมษายน 2566 | 49 |
Process Safety Management: a key element to achieve PSM | 10 เมษายน 2566 | 49 |
รวมจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งหมด | 262 |


