ข่าวสารบริษัท

B3W - BUILD BACK BETTER WORLD





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ - จีนน่าจะเคยผ่านตาหรือคุ้นเคยกับโครงการ Build Back Better World หรือ B3W ในฐานะโครงการที่กลุ่มประเทศพัฒนาส่งมาเพื่อประชันกับโครงการแห่งศตวรรษอย่าง Belt and Road Initiative หรือ BRI ของฝั่งจีนอยู่แล้ว วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะมาพูดคุยกันว่าโครงการ B3W คืออะไร สามารถเทียบเคียงกับ BRI ได้หรือไม่ รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างขั้วมหาอำนาจทั้งสองนี้กันค่ะ

โครงการ B3W เกิดขึ้นจากการประชุมของกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรมของโลกหรือที่รู้จักกันในนาม G7 ซึ่งประกอบไปด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้แทนของสหภาพยุโรป (EU) โดยการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เสนอโครงการพัฒนาประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางผ่านการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมเป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่ (1) การแก้ปัญหาสภาวะอากาศ (2) การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (3) ความมั่นคงทางสาธารณสุข และ (4) ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนที่มีจำนวนสูงถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั่วโลกจึงตั้งข้อสังเกตว่าโครงการ B3W นี้เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อโอบล้อมและคานอำนาจ/ อิทธิพลของประเทศจีนที่ปัจจุบันกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและคู่แข่งหลัก โดย B3W ถูกจับตามองในฐานะโครงการทางเลือกของ BRI ที่นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาช่วยให้จีนสามารถขยายการลงทุนผ่านการปล่อยเงินกู้ยืมและการพัฒนาโครงการก่อสร้างในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปเป็นวงกว้าง

จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว กลุ่ม G7 จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบการดูแลในแต่ละภูมิภาค เช่น ประเทศสมาชิกจากยุโรปจะเน้นที่ประเทศรายได้น้อยแถบคาบสมุทรบอลข่านและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศญี่ปุ่นดูแลประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ญี่ปุ่นมีบทบาทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ส่วนสหรัฐฯ จะรับผิดชอบครอบคลุมตั้งแต่แถบละตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา ไปจนถึงอินโดแปซิฟิก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการ B3W ยังไม่ได้มีการประกาศข้อกำหนดการเข้าร่วมที่ชัดเจน ประเทศต่างๆ จึงยังคงรอรายละเอียดของนโยบายเพิ่มเติมทั้งด้านมาตรฐานความโปร่งใสและความยั่งยืน ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน การต่อต้านคอร์รัปชั่น ฯลฯ ว่าในท้ายที่สุดแล้วจะทำให้โปรเจค B3W สามารถแข่งขันกับโครงการ BRI ของจีน อาทิ ด้านต้นทุน มากน้อยเพียงใด

สำหรับประเทศไทย โครงการ B3W ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีความร่วมมือระดับสากลเพิ่มเติมจากโครงการ BRI ที่ประเทศไทยเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสองโครงการจะเสริมสร้างทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคจนเกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยที่ตั้งบนพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงความร่วมมือและความสัมพันธ์ของประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานกับประเทศสมาชิก G7 เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นพันธมิตรที่สอดคล้องและสอดรับกันสำหรับทั้งโครงการ B3W และ BRI

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าการตอบโต้เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ หรือผลลัพธ์สุดท้ายของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด ผู้เขียนก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าประเทศไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจและจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อคว้าโอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคของ The Great Decoupling นี้ค่ะ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง