ข่าวสารบริษัท

HACKATHON





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจสตาร์ทอัพนับว่าเป็นหนึ่งในกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกยุคปัจจุบันที่นอกจากจะมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วสตาร์ทอัพยังช่วยแก้ปัญหาและทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของการทำธุรกิจลงอีกด้วย หลายประเทศทั่วโลกจึงเล็งเห็นความสำคัญและหันมาส่งเสริมและบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพกันอย่างแพร่หลาย

จากรายงาน Global Startup Ecosystem Report 2020 ของบริษัทวิจัย Startup Genome ระบุว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากเมื่อสองปีก่อน โดยสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในระดับยูนิคอร์นกว่าร้อยละ 60 เกิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มี Silicon Valley เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและระบบนิเวศที่รองรับการเกิดของธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการแข่งขัน Hackathon ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศ องค์กร รวมถึงบริษัทใน Silicon Valley ต่างนำมาใช้

Hackathon เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพในการแข่งขันระดมความคิดที่ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 วัน ภายใต้โจทย์ที่กำหนดซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นการรวมกลุ่มของนักคิด นักออกแบบ และนักพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ในเวลาอันสั้นและนำเสนอออกมาในรูปแบบของ Minimum Viable Product ต่อคณะกรรมการเพื่อชิงเงินลงทุนจากผู้จัดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่ง Venture Capitalist และนำมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดต่อไป หรืออาจถูกจัดอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอไอเดียโดยบุคคลภายนอกเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น The First Open Banking Hackathon ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้ใช้ Open Banking API เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ Smart Energy Hackathon ของปตท. ที่แข่งขันการนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงาน หรือ Line Hack ของบริษัท Line ที่จัดขึ้นเพื่อค้นหาไอเดียการให้บริการรูปแบบใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ Hackathon ยังสามารถนำมาใช้ภายในองค์กรเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ รวมถึงบรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดไอเดียที่สร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น องค์กรระดับโลกอย่าง Microsoft, Facebook ที่รวบรวมพนักงานจากหลายประเทศทั่วโลกมาระดมความคิดหาโซลูชันใหม่ๆ หรือ องค์กรในประเทศอย่าง KBTG, TMB หรือ Tencent Thailand ที่จัดงาน Hackathon ประจำปีขึ้นเพื่อค้นหาไอเดียการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

ภาครัฐเองก็สามารถใช้การแข่งขัน Hackathon เพื่อสนับสนุนให้เกิดไอเดียการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ อาทิเช่น งาน Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อค้นหาแนวคิดธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก งาน ASEAN Startup Hackathon โดย DEPA กับบริษัท HUBBA, Techstars และ Techsauce เพื่อหาไอเดียการพัฒนานวัตกรรมเมืองอัจฉริยะสู่ระดับอาเซียน เป็นต้น ซึ่งในอนาคตก็สามารถขยายผลโดยการนำโครงการ Hackathon มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ครอบคลุมสำหรับทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น TravelTech, AgriTech, FoodTech, HealthTech, EdTech เป็นต้น ได้มากขึ้นอีกด้วย

Hackathon เป็นเหมือนทางลัดที่เปลี่ยนความคิดที่ "เป็นไปไม่ได้" ให้ "เป็นไปได้" ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการเปิดกว้างทางความคิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดเป็นไอเดียใหม่ทั้งการพัฒนาธุรกิจเดิมหรือสร้างธุรกิจใหม่ จึงเป็นเหมือนการหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมการคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมนั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง