ข่าวสารบริษัท

ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ลงนามความร่วมมือกับทัส โฮลดิ้งส์ เปิดตัวศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" ในกรุงเทพฯ





คณะผู้บริหารจากดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และทัช โฮลดิ้งส์ ร่วมลงนามในสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด (WHA TUS)
เตรียมเปิดศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" ในพิธีลงนามทางออนไลน์

ภาพทางขวา — คณะผู้บริหารดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป:

  1. นางสาวจรีพร จารุกรสกุล (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  2. มร. เดวิด นาร์โดน (ที่ 2 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  4. นางสาวมณฑิกา เจริญยิ่งวัฒนา (ขวา) ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ภาพทางซ้าย — คณะผู้บริหารทัส โฮลดิ้งส์:

  1. มร. เฉิน หยู (กลาง) รองประธานอาวุโสของทัส โฮลดิ้งและประธานบริษัทยูนนาน ทัส อินดัสทรี แอนด์ คอมเมิร์ซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
  2. มร. ยูเหิง ฉาง (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ
  3. มร. เฮอร์เบิร์ต เฉิน (ขวา) ประธานฝ่ายปฏิบัติการของทัส โฮลดิ้งส์

ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยและทัส โฮลดิ้งส์ บริษัทที่มีเครือข่ายด้านนวัตกรรมระดับโลก ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด (WHA TUS) พร้อมเปิดศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจภายใต้ชื่อ "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ทอัพและส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน ไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

กรุงเทพฯ/ 29 กันยายน 2563 – บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHAID) ผู้นำอันดับหนึ่งในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทย และ บริษัท ทัส โฮลดิ้งส์ จำกัด (TUS) ผู้พัฒนาศูนย์ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด (WHA TUS) ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ซึ่งดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นร้อยละ 51 และกลุ่มทัส โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นร้อยละ 49

ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่บริหารจัดการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนถนนพระราม 4 มีพื้นที่ขนาด 1,408 ตารางเมตร ด้วยจำนวน working desk กว่า 230 ที่ สามารถรองรับสตาร์ทอัพได้กว่า 80 บริษัท นอกเหนือจากพื้นที่การทำงานที่เพียบพร้อมด้วยสาธารณูปโภคแล้ว ผู้เช่าพื้นที่ยังจะได้รับบริการการสนับสนุนทางธุรกิจที่ครบครัน ได้แก่ บริการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Service) ครอบคลุมบริการ Entrepreneurship Salon, Venture Tours, Project Fitting การอบรมออนไลน์ ฯลฯ และบริการเพื่อการขยายธุรกิจ (Soft-Landing Service) ที่ช่วยให้บริการด้านการจดทะเบียนบริษัท การให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ภาษี และการเงิน รวมถึงการจดทะเบียนสิทธิบัตร ศูนย์ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ยังเตรียมพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตรเพื่อรองรับการจัดแสดงนิทรรศการ งานสัมมนา การประชุม การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ตลอดจนงานการจับคู่ทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ในประเทศจีน รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสตาร์ทอัพและเป็นตัวกลางในการเชื่อมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคล พร้อมมอบโอกาสในการเข้าถึงนักลงทุนและตลาดในหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน

ทัส โฮลดิ้งส์ พร้อมนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาและต่อยอดที่ศูนย์ "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" ในกรุงเทพมหานคร โดย ทัส โฮลดิ้งส์ จัดตั้งขึ้นในปี 2537 ร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง โดยในปีเดียวกัน ทัส โฮลดิ้งส์ ได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาตร์ "ทัสพาร์ค" แห่งแรก ณ กรุงปักกิ่ง ศูนย์รวมสตาร์ทอัพกว่า 1,500 บริษัท บนพื้นที่ 770,000 ตารางเมตร นับเป็นอุทยานวิทยศาสตร์ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบัน ทัส โฮลดิ้งส์ ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วกว่า 800 บริษัททั่วโลก ภายใต้การบริหารจัดการทรัพย์สินมูลค่กว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเครือข่ายด้านการบ่มเพาะนวัตกรรมที่ใหญ่สุดของจีน โดยทัส โฮลดิ้งส์ ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมในประเทศจีนไปแล้วกว่า 120 แห่ง ซึ่งให้การบ่มเพาะไปแล้วกว่า 5,000 สตาร์ทอัพ บริษัทฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาบริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ บริษัท ไฮแลนเดอร์ ผู้ให้บริการอุปกรณ์และระบบเพื่อการเดินเรือชั้นนำของโลก MOOC แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์, ChineseAll สำนักพิมพ์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และอีกมากมาย ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายด้านนวัตกรรมและการบ่มเพาะธุรกิจทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมมากกว่า 32 ปีและฐานลูกค้ากว่า 1,000 รายของบริษัทฯ จะช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในภาคส่วนอุตสาหกรรม พร้อมนำทรัพยากรท้องถิ่นมาสนับสนุนการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเพิ่มศักยภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการของสตาร์ทอัพ พร้อมยังสร้างโอกาสในการระดมทุน นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 10 แห่งและศูนย์โลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการของสตาร์ทอัพต่างๆ ได้อีกด้วย

การเปิดศูนย์ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ในประเทศไทย นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างทัส โฮลดิ้งส์และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป โดยบริษัททั้งสองพร้อมขยายกรอบความร่วมมือในอนาคต อันรวมถึงการศึกษาและวางแผนการพัฒนาโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ต่อไป

มร. เฉิน หยู รองประธานอาวุโสของทัส โฮลดิ้งและประธานบริษัทยูนนาน ทัส อินดัสทรี แอนด์ คอมเมิร์ซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีความมั่นใจว่าการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ของทัส โฮลดิ้งส์ จะนำมาซึ่งความสำเร็จ โดยกล่าวว่า "ศูนย์การบ่มเพาะนวัตกรรมที่ทัส โฮลดิ้งส์ และดับบลิวเอชเอ ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรจากรัฐบาล มหาวิทยาลัย และภาคส่วนอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ การผนึกกำลังวันนี้นับเป็นการปักหมุดเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไฮเทคระหว่างจีน-ไทย ทัส โฮลดิ้งส์จะนำประสบการณ์อันยาวนานในการบ่มเพาะธุรกิจ เครือข่ายนวัตกรรมทั่วโลก และทรัพยากรจากบริษัทไฮเทคหลายพันแห่ง มาใช้พัฒนา ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของประเทศไทย มุ่งบ่มเพาะธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลักดันการแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และการพัฒนาองค์กรในจีนและไทย"

"เรามั่นใจว่าความร่วมมือของทัส โฮลดิ้งส์ และดับบลิวเอชเอ ในวันนี้ จะช่วยอำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย" มร. หม่า เสี่ยวเว่ย ประธานของทัส ซิตี้ กรุ๊ป บริษัทในเครือทัส โฮลดิ้งส์ กล่าว โดยทัส ซิตี้ กรุ๊ป มี เครือข่ายด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบริษัท ครอบคลุมเมืองต่างๆ ในจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว เทียนจิน ฉงชิ่ง หางโจว เหอเฝย์ อู่ฮั่น ซีอาน หนานจิง หนิงโป ฝูโจว ตลอดจนในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ

มร. เฮอร์เบิร์ต เฉิน ประธานฝ่ายปฏิบัติการของทัส โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่างประเทศนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดของทัส โฮลดิ้งส์ และการร่วมธุรกิจกับดับบลิวเอชเอในวันนี้จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ร่วมกันฟันฝ่าความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราพร้อมจับมือกับดับบลิวเอชเอ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการทำงานระหว่างองค์กรไฮเทคในจีนและไทย พร้อมยังเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านนวัตกรรมของจีน-ไทย อีกทั้งยังเป็นก้าวความสำเร็จที่สำคัญของวงการนวัตกรรมของไทย อันจะช่วยพัฒนามิตรภาพระหว่างชาวไทยและจีน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสืบต่อไป"

"เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัททัส โฮลดิ้งส์ การผนึกกำลังในวันนี้สอดรับกับนโยบายของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่ดิจิทัล (Digital transformation)" นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว พร้อมเสริมว่า "เราต้องการแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัยเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0"

"เรามั่นใจว่าความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระยะยาวครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกับทัส โฮลดิ้งส์ บริษัทชั้นนำที่มีเครือข่ายทั่วโลก" มร. เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) "นอกจากนั้นยังช่วยส่งเสริมคอนเซ็ปต์ สมาร์ท อีโคของนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเสริมทัพการให้บริการ พร้อมขยายธุรกิจสู่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอนาคตต่อไป"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง