ข่าวสารบริษัท

HUNGER IN A BOILING WORLD





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นับตั้งแต่การปฏิวัติเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันตกระหว่าง ค.ศ. 15 ถึงปลาย ค.ศ. 19 ที่เข้ามาพลิกโฉมวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดสรรกรรมสิทธิ์และใช้ประโยชน์ที่ดิน การผลิตอาหารสัตว์ โครงการชลประทาน และระบบทุนนิยม โลกของเราก็เข้าสู่ยุคแห่งความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้ประชากรโลกขยายตัว มีสุขภาพดี และเกิดเป็นความมั่นคงทางอาหารของโลกเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขั้นรุนแรงทำให้ในปี 2023 องค์การสหประชาชาติออกมาประกาศว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลง และยุคโลกเดือด (Global Boiling) กำลังเริ่มต้นขึ้น ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องก็ได้สร้างปรากฏการณ์ลูกโซ่ทั้งสภาวะอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำจืดขาดแคลน ดินเสื่อมโทรม หรือการระบาดของโรคและศัตรูพืช ฯลฯ ที่ล้วนส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในปัจจุบันที่มีกว่า 8 พันล้านคน

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (โดยเฉพาะฟาร์มปศุสัตว์และประมงเชิงอุตสาหกรรม) เป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนสูงถึงร้อยละ 20-25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในแต่ละปี ขณะเดียวกันความแปรปรวนของสภาพอากาศก็เป็นสาเหตุของวิกฤตอาหารโลกและระดับภาวะทุพโภชนาการและภาวะอดอยากที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายงาน 2023 Global Hunger Index พบว่า ร้อยละ 9.2 ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหาขาดสารอาหาร (Undernourished) เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในปี 2017 ที่ร้อยละ 7.6 ตลอดจนประชากรในกลุ่มประเทศยากจนส่วนมากก็ยังต้องเผชิญกับภาวะหิวโหย เช่น ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชียใต้ หรือแม้แต่ประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังได้รับผลกระทบ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงคราม และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลทำให้ราคาอาหารและผลผลิตทางการเกษตรในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรปทยอยปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา

จากสถานการณ์วิกฤตอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่หลากหลาย รวมถึงสังคมไทยเองก็มีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ในฐานะประเทศผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารด้วยศักยภาพการผลิตในปริมาณที่เพียงพอสำหรับความต้องการภายในประเทศและเหลือเพื่อการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลในเรื่อง Food Security ทั้งจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจโลกกำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามพึ่งพาตนเองด้านอาหารมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวประเทศไทยก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัยและนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เช่น การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง/ เกษตรกรรมในอาคาร หรือการเกษตรแบบแม่นยำเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือการจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการผลิต รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบยั่งยืน อาทิ การทำ Carbon Farming เพิ่มการสะสมของคาร์บอนในดินให้นานขึ้นด้วยการปลูกพืชคลุมดินและพืชหมุนเวียน ระบบวนเกษตร/ การเกษตรแบบผสมผสาน (Agroforestry) หรือการใช้พลังงานชีวมวลหรือพลังงานชีวภาพแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง