การบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้าง
กลุ่มบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการจัดการของเสียของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ (Environmental Quality, Energy Conservation and Biodiversity Policy) รวมถึงเป็นไปตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการของเสียที่ระบุไว้ในผลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อบริหารและจัดการของเสียเพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบการจัดการของเสียให้เป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสมตามข้อกำหนดทางกฎหมาย คณะทำงานดังกล่าวจะตรวจสอบและจำแนกของเสียแต่ละประเภทจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการจัดการการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มบริษัทฯ/p>
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญในการจัดการของเสียที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างโครงการและอาคารของกลุ่มบริษัทฯ โดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคู่ค้า/ผู้รับเหมา ที่ต้องแน่ใจว่าคู่ค้ารายนั้นมีการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ผ่านการพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และยังได้มีการกำหนดกลยุทธ์และวางแผนในการควบคุมและลดปริมาณของเสียจากการก่อสร้างและรวมถึงการรื้อถอนโครงการและอาคารของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งหมดร้อยละ 100 ดังนี้
- กำหนดให้ทุกโครงการของกลุ่มบริษัทฯ มีวิศวกรโครงการร่วมกับ Safety Officer มีหน้าที่วางแผน และออกแบบแผนผังการจัดการขยะ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้าง โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ ปริมาณ ระยะเวลา การใช้วัสดุตามแผนงานก่อสร้าง พื้นที่ก่อสร้างและพื้นที่ชั่วคราว และเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำโครงการมีหน้าที่ในการบันทึกการนำขยะออกนอกพื้นที่โครงการ ตรวจสอบขยะทุกประเภทที่นำออก สภาพการขนย้ายขยะออกนอกพื้นที่
- กำหนดให้ผู้รับเหมามีการแยกขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง และขยะจากกิจกรรมต่างๆ คนงานออกจากกัน และจัดเก็บในภาชนะให้เป็นระเบียบในทุกโครงการร้อยละ 100 ของกลุ่มบริษัทฯ
- กำหนดให้ร้อยละ 100 ของโครงการก่อสร้างมีการประยุกต์ใช้กระบวนการ Recycle ด้วยการนำเศษปูนที่เหลือจากกระบวนการก่อสร้างในจำนวนร้อยละ 100 มาใช้ประโยชน์ในการนำมาหล่อบล็อคทางเดิน (Paving block from waste) เพื่อนำกลับมาใช้ต่อได้หลากหลายแนวทางอาทิ บล็อคเท้าบริเวณอาคารสำนักงาน ทางเท้าพื้นที่ข้างอาคารคลังสินค้า และขอบคันหินถนน เป็นต้น
- กำหนดให้ผู้รับเหมามีการจัดเตรียมให้มีภาชนะรองรับที่มีฝาปิดมิดชิดตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเพียงพอ
- กำหนดให้ผู้รับเหมาจัดให้มีคนงานที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมกากของเสีย/ขยะไปกำจัดอย่างเป็นระบบ
- กำหนดให้ผู้รับเหมาจัดการขยะ/ของเสียจากการก่อสร้างให้จัดกองเก็บรวมกันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อสามารถดำเนินการขายหรือนำไปใช้ประโยชน์ตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse and Recycle) และจัดให้มีการซื้อ/ขาย
- กำหนดให้พนักงาน คนงาน และผู้รับจ้างช่วงทุกคนทั้งหมดร้อยละ 100 มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนการจัดการขยะที่กำหนดไว้ และต้องได้รับการอบรม เสริมสร้างความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง
- ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการก่อสร้างและการจัดการของเสียถูกรับผิดชอบโดยผู้รับเหมาทั้งหมด ดังนั้นการประหยัดการใช้ทรัพยากร การนำวัสดุก่อสร้างที่เกิดขึ้นนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำจากกระบวนการ Reduce Reuse และ Recycle รวมถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนต่างๆ จะเป็นผลประโยชน์ (Incentive) ของผู้รับเหมาทั้งหมดร้อยละ 100


