ข่าวสารบริษัท
FTTx
คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
FTTx ย่อมาจาก Fiber to the x ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ที่ลากหรือต่อตรงไปยังสถานที่ปลายทาง (x) และทำให้ FTTx สามารถรองรับข้อมูลปริมาณมากรวมถึงรับ-ส่งสัญญาณในระยะทางไกลโดยไม่ถูกรบกวนจากภายนอกเมื่อเปรียบเทียบกับ ADSL ที่เป็นการส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านสายเคเบิ้ลทองแดงแบบดั้งเดิมหรือ 3G/ 4G ที่เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายและมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยเพียง 10-150 Mbps เท่านั้น
ในอดีต FTTx ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากนักโดยมีเพียงองค์กรขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณเพียงพอและสามารถลงทุนได้แต่เนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ FTTx จึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างของบริการ FTTx สำหรับตลาดผู้บริโภคได้แก่ การให้บริการ FTTH (Fiber to the Home) หรือ FTTB (Fiber to the Building) ที่เป็นบริการสัญญาณบรอดแบนด์ไฟเบอร์ความเร็วสูงระดับ Gbps เชื่อมต่อเข้าไปยังสถานที่พักอาศัยหรืออาคารโดยตรงซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการ อาทิ กลุ่ม True, AIS, จัสมิน (3BB) เป็นต้น
นอกจากนั้น แนวโน้มการปรับเปลี่ยนไปสู่ Industry 4.0 และกระแส Digital Transformation ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็เป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า/ บริการและทำให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้ FTTx จึงถูกนำมาใช้งานในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น การใช้ FTTx เพื่อทดแทนสัญญาณโทรศัพท์มือถือไร้สาย 3G/ 4G สำหรับเชื่อมต่อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ IoTs / Sensor ปริมาณมาก อาทิ Smart Meter หรือ CCTV ซึ่งด้วยคุณสมบัติของ Fiber optic ที่มีอัตราการลดทอนสัญญาณต่ำก็สามารถช่วยลดข้อผิดพลาดในการรับ-ส่งสัญญาณหรือข้อมูลได้ ตลอดจนคุณสมบัติด้านความเสถียรก็ทำให้ FTTx เหมาะสมสำหรับการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ เช่น ระบบบริหารจัดการโรงงานหรือคลังสินค้าสำหรับ Smart Factory หรือ Smart Warehouse เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวก็ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสัญญาณและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกลายเป็นปัจจัยที่นักลงทุนและผู้ประกอบการทั่วโลกให้ความสำคัญ และมีส่วนกำหนดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศเลยทีเดียว
ทั้งนี้ WHA Group ในฐานะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทยและเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งในพื้นที่ EEC ก็มีการให้บริการ FTTx ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการใช้งานด้านดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน โดยกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้แนวคิด Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน WHA Group จะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงข่าย Fiber Optic ภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดเพื่อเป็นการช่วยลดภาระของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละรายทำให้ไม่จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณลงทุนในระบบโครงข่ายที่อาจซ้ำซ้อนกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรหรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่การให้บริการเทคโนโลยี 5G ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมและบริการกำลัง Transform ไปสู่ความเป็นดิจิทัลในอัตราเร่ง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมนั้นเป็นปัจจัยกำหนดความน่าสนใจของแต่ละประเทศที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่นๆ เพราะการเข้าถึงและต้นทุนของ High-speed Internet ได้กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนในยุค Industry 4.0 ต่างต้องนำมาพิจารณาเปรียบเทียบอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนนั่นเอง