ข่าวสารบริษัท

RECIPROCAL TARIFF II





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ แม้จะมีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เจรจาลดหย่อนภาษี แต่มาตรการดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ทั้งในรูปของความผันผวนในตลาดเงิน การลงทุน และราคาสินทรัพย์ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจและการค้าโลกลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มพิจารณาปรับห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์การเจรจาเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดยการตอบสนองของแต่ละประเทศสะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ “กลุ่มประเทศที่ตอบโต้ (Retaliated)” นำโดยประเทศจีนที่ปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงลดภาษีชั่วคราว (Temporary Tariff Rollback) เป็นเวลา 90 วัน ภายหลังการเจรจาที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน 115% ส่งผลให้ภาษีสินค้าที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนลดเหลือ 10% ขณะที่สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้าจากจีน 145% เหลือ 30% อย่างไรก็ตาม แม้ความคืบหน้านี้จะลดแรงกดดันระยะสั้นและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ก็ยังถือเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว โดยอาจยังไม่ใช่สัญญาณการยุติสงครามการค้าอย่างแท้จริง

สำหรับ “กลุ่มประเทศที่เจรจา (Negotiating)” ตัวอย่างเช่น อินเดียที่มีท่าทีเปิดกว้างในการแก้ไขปัญหาดุลการค้า ทำให้ที่ผ่านมามีความคืบหน้าในการเจรจา แต่ล่าสุดได้เริ่มพิจารณาตอบโต้กลับสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ด้วยการพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนสำคัญของอินเดีย ขณะที่ญี่ปุ่นวางกลยุทธ์การเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ โดยยอมเปิดตลาดด้านการเกษตรบางส่วน เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีรถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม แต่การเจรจายังคงดำเนินต่อไปและยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน ด้านเวียดนามได้เสนอลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% รวมถึงเร่งแก้ไขข้อกังวลเรื่องการลักลอบนำเข้าและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่กัมพูชาเสนอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้า 19 รายการ จาก 35% เหลือ 5% เป็นต้น ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามของแต่ละประเทศในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน

จากผลการสำรวจลูกค้า 200 ราย ที่มีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 1,000 - 50,000 ล้านบาทของ WHA Group นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเลือกใช้กลยุทธ์รอดูสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินเจรจา ขณะที่กลุ่มนักลงทุนใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่ยังคงแสดงความเชื่อมั่น พร้อมยืนยันแผนการลงทุนในไทย ด้วยเหตุผลด้านความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานฝีมือ และปัจจัยอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากกว่าประเด็นด้านภาษีเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายต่างคาดหวังให้เกิดการดำเนินนโยบายเชิงรุกในการเจรจา เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก ท่ามกลางความเปราะบางของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ การร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น การวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนทางการค้าและการลงทุน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคยังถือเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มอำนาจต่อรองในระยะยาว หัวใจสำคัญของการอยู่รอดในสถานการณ์สงครามการค้าเช่นนี้ อาจไม่ใช่โลกของผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่อาจเป็นโลกของผู้ที่ปรับตัวได้เร็วที่สุดนั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง