Company News

CONSTRUCTION TECHNOLOGY





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมก่อสร้างถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยไม่เพียงมีศักยภาพในการสร้างงานสูงเท่านั้นแต่ยังส่งผลเชื่อมโยงไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นการลงทุนก่อสร้างมีมูลค่าเฉลี่ยกว่าล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 8 ของ GDP ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าแรงและค่าวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน การหยุดชะงักของการก่อสร้างจากปัญหาการลำเลียงวัสดุ รวมถึงปัญหาประสิทธิภาพในการดำเนินงานอันสะท้อนให้เห็นจากการก่อสร้างที่มักล่าช้าและงบประมาณที่ปานปลาย จากรายงานของ Deloitte เมื่อปี 2019 ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมก่อสร้างมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) อยู่ในระดับต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นโดยมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 5 ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 25 ซึ่งการพัฒนาที่ล่าช้านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

แต่ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสวนทางกับต้นทุน ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจนทำให้เกิดการขาดแคลนทั้งวัตถุดิบและแรงงาน รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการเริ่มเปิดรับและหันมาให้ความสนใจในเทคโนโลยีการก่อสร้าง (Construction Technology) มากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีต่างๆ นั้นสามารถนำมาพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ทุกกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าได้ตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ การจัดซื้อวัสดุและการขนส่ง การก่อสร้าง การดำเนินงานหลังการก่อสร้าง ตลอดไปจนถึงการวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งการขาดแคลนแรงงาน การลดระยะเวลาในการก่อสร้าง การลดข้อผิดพลาดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจอีกด้วย

จากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศพบว่ามีหลายบริษัทที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จริงในการก่อสร้างทั้งในรูปแบบของฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ เช่น 3D Printer ของ Apis cor ที่สามารถก่อสร้างอาคารขนาด 640 ตารางเมตรได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่าการก่อสร้างแบบปกติถึง 9 เท่าโดยใช้เพียง 3D Printer 1 เครื่องร่วมกับคนงานเพียง 3 คนเท่านั้น หรือ หุ่นยนต์แขนกลอัตโนมัติของ Fastbrick Robotics ที่ก่อผนังอิฐได้ด้วยความเร็ว 1,000 ก้อนต่อชั่วโมงทำให้สามารถสร้างบ้านเสร็จได้ภายใน 2 วัน หรือ โปรแกรม MR (Mixed Reality) ของ Trimble ที่มาพร้อมกับ HoloLen บนหมวก Safety สำหรับช่วยวิศวกรหน้างานในการตรวจความเรียบร้อยของการก่อสร้างโดยสามารถเปรียบเทียบกับภาพแบบสามมิติใน BIM ได้สำหรับประเทศไทยเองผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการก่อสร้างเช่นกัน อาทิ ซอฟแวร์ Building Information Modeling (BIM) ที่นำมาใช้ตั้งแต่การออกแบบโครงการแบบสามมิติไปจนถึงการวางแผนงานก่อสร้าง หรือ เทคโนโลยี AI-powered Construction Simulation ที่เข้ามาช่วยในการประมวลผลรายละเอียดการก่อสร้างต่างๆ เช่น เวลา วัสดุ จำนวนทีมงาน และจำลองสถานการณ์จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะสามารถช่วยลดเวลาและต้นทุนในการก่อสร้างได้ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันบางเทคโนโลยีอาจดูไกลเกินตัวแต่การพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้นการออกจากกรอบความคิดแบบเดิมและการเตรียมพร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการรักษาจุดยืนในการแข่งขันในอนาคตมิเช่นนั้นอาจจะต้องติดอยู่ในกรอบที่แคบลงเรื่อยๆ นั่นเอง


Related Company News