Company News
LEVERAGING AI TO REVOLUTIONIZE HEALTHCARE
คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมแห่งอนาคต และได้แทรกซึมเข้าสู่หลายสาขาวิชาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ โดยการแพทย์นับเป็นหนึ่งในสาขาที่ได้รับประโยชน์จากศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของ AI ที่ได้เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติและส่งผลให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) คาดการณ์ว่า AI สำหรับการแพทย์และการดูแลสุขภาพทั่วโลกอาจเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 188 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
ปัจจุบัน AI สามารถทำหน้าที่เป็นเสมือน "ผู้ช่วย" ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในทุกขั้นตอน โดยสำหรับในขั้นแรกนั้น AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางแพทย์ที่หลากหลาย ทั้งประวัติสุขภาพหรือข้อมูลจากการถอดรหัสทางพันธุกรรมเพื่อระบุความเสี่ยง คาดการณ์แนวโน้มการเกิดโรคในอนาคต และนำไปวางแผนการดูแลป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรค AI สามารถช่วยประมวลผลภาพถ่ายทางการแพทย์หรือผลแลปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการวินิจฉัยและลดความเสี่ยงในการวินิจฉัยผิดพลาด โดยเฉพาะในกรณีโรคหายากหรือโรคซับซ้อน
AI ไม่เพียงเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรค แต่ยังเปิดมิติใหม่ในกระบวนการรักษาให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดย สามารถวิเคราะห์ประวัติสุขภาพและข้อมูลพันธุกรรม เพื่อออกแบบแนวทางการรักษาและการจ่ายยาแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงคาดการณ์ผลลัพธ์ของการรักษาวิธีต่างๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพก่อนการรักษาจริง พร้อมทั้งวิเคราะห์ปฏิกิริยาของยาต่อร่างกายผู้ป่วยเพื่อปรับปรุงแผนการรักษาได้อย่างตรงกับพัฒนาการของโรคและร่างกายของคนไข้ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัด AI ยังสามารถกลายเป็นผู้ช่วยที่ไว้ใจได้ให้แก่แพทย์ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติเพื่อการวางแผนที่ครอบคลุมก่อนการผ่าตัด รวมถึงการใช้ควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัด ในขั้นตอนที่ต้องการความแม่นยำสูงเพื่อลดการเสียเลือดของผู้ป่วย
นอกจากนั้น AI ยังสามารถยกระดับกระบวนการฟื้นฟูของผู้ป่วยหลังการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแพทย์สามารถใช้ AI ออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งติดตามผลการรักษาและกระตุ้นให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของ AI ยังนำไปสู่การพัฒนาการของเทคโนโลยี Brain-Computer Interface (BCI) ที่เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สมองสามารถสั่งการและควบคุมอุปกรณ์ภายนอกได้โดยตรงผ่านการเชื่อมต่อทางประสาท ซึ่งสามารถช่วยผู้ป่วยในการฟื้นฟูหลังการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารให้สามารถออกคำสั่งด้วยการสั่งการจากสมองเพื่อควบคุมอวัยวะเทียมให้พิมพ์ข้อความหรือบังคับรถเข็นไฟฟ้า เป็นต้น
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยยกระดับการแพทย์ได้ตั้งแต่การพยากรณ์โรค การตรวจวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการดูแลหลักการรักษา สำหรับประเทศไทยเองที่มีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้านบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุคใช้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลถือเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้เล่นในอุตสาหกรรม ผ่านการสนับสนุนการลงทุนในด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการแพทย์และธุรกิจสุขภาพในอนาคต ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถต่อยอดจากความสำเร็จเดิม พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับสากลและเป็นกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั่นเอง