Company News

RESEARCH & DEVELOPMENT





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

เมื่อ “นวัตกรรม” กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการอยู่รอดและความสำเร็จของธุรกิจในศตวรรษที่ 21 กิจกรรมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาหรือ Research & Development (R&D) เพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

หนึ่งในผลลัพธ์ของนวัตกรรมก็คือ Intellectual Property หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการคิดค้นหรือการค้นคว้าเนื่องจากความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ หรือความชำนาญที่ได้รับการรับรองสิทธิ์ให้มีค่าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้กลายเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่หลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ทั้งสองฝ่ายต่างแย่งชิงเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศตน

ทั้งนี้รายงาน World Intellectual Property Indicators ประจำปี 2020 ได้เปิดเผยจำนวนคำขอยื่นจดสิทธิบัตร (Patent) ของผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั่วโลกทั้งหมดกว่า 3.2 ล้านฉบับโดยประเทศที่มีสถิติการยื่นคำขอสิทธิบัตรมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ประเทศจีน 1.4 ล้านฉบับ (43.4%) สหรัฐอเมริกา 0.6 ล้านฉบับ (19.3%) และ ญี่ปุ่น 0.3 ล้านฉบับ (9.6%) ตามลำดับ ข้อมูลจาก WIPO ดังกล่าวจึงเป็นตัวสะท้อนอย่างดีว่าประเทศจีนนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นอย่างมากจนทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาสามารถครอบครองสิทธิบัตรเป็นจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หลายเท่าตัว

ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์การ transform ประเทศไปสู่โมเดล “Thailand 4.0” ที่เน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจฐานความรู้และการบริการที่ส่งผลให้ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเปลี่ยนผ่านจากทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน แรงงาน ทุน ฯลฯ ไปเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการ EEC เองก็มุ่งที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษทั้ง First S-Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตอันแข็งแกร่งแต่จำเป็นต้องเพิ่มการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่การแข่งขันนานาชาติ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในกลุ่ม New S-Curve ที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ หรือ สอวช. เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่าประเทศไทยมียอดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น 193 พันล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.1% ของ GDP รวมโดยแบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนต่อภาครัฐเท่ากับ 78% ต่อ 22% และมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 24 คนต่อประชากร 10,000 คน อย่างไรก็ตาม งบประมาณด้าน R&D ของไทยยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น เกาหลี ไต้หวัน หรือ จีนที่มีการจัดสรรงบประมาณเฉลี่ยกว่า 2% ของ GDP ตลอดจนเมื่อคำนวณเป็นปริมาณเม็ดเงินแล้วงบ R&D ของประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งมีจำนวนที่สูงกว่าประเทศไทยมากซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและตั้งเป้าหมายเพิ่มงบประมาณ R&D ของประเทศเป็น 1.5% ของ GDP ในปีงบประมาณปัจจุบันและขยับไปจนแตะระดับ 4 แสนล้านบาท หรือ 2% ของประมาณการ GDP ในปี 2027 อีกด้วย

นอกจากการจัดสรรเม็ดเงินและงบประมาณ R&D เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้เขียนก็ต้องขอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องถึงการพิจารณากำหนดมาตรฐานและกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่ชัดเจนเพราะทุกวันนี้ประเทศเราก็ยังมีปัญหางานวิจัยขึ้นหิ้งที่เป็นประเด็นซึ่งหากสามารถกำหนดมาตรการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็จะช่วยให้ประเทศไทยเดินไปสู่ความสำเร็จบนเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน

 


Related Company News