Company News

ELECTRIC VEHICLE





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาความนิยมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดนับเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมถึงมีความพยายามร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วยการลดปริมาณก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมรถยนต์จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้และส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวรับกระแส Disruption ที่กำลังเกิดขึ้นโดยการคิดค้นและพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV)

แม้ว่าตลาด EV ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงเป็นตลาดใหม่เมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ จีน ยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งที่ (1) เคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เดิมตั้งแต่อดีต และ (2) ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมใหม่นี้ที่ต่างก็กำหนดให้มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนใน segment ดังกล่าว อาทิ ประเทศอินโดนีเซียที่มีการประกาศใช้มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาแบตเตอรี่ชั้นนำต่างชาติ หรือ รัฐบาลของเวียดนามที่ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า VinFast ของตนอย่างจริงจังเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่สนับสนุนผู้ผลิต local brand เช่น Proton ที่แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ได้ประกาศผลิต EV อย่างเป็นทางการแต่รัฐบาลมาเลเซียก็ให้การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างดีเช่นกัน

การวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ทำให้เป็นเวลานานกว่า 40 ปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทั้งจากการลงทุนเพื่อผลิตใช้ภายในประเทศ และการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก ซึ่งภาครัฐของไทยก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมและตอบสนองต่อกระแสความนิยมพลังงานสะอาดของทั่วโลกโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบวางแผนและติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ตลอดจนคณะกรรมการโครงการ EEC และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ตอบรับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเป็นอย่างดี เช่น การส่งเสริมการลงทุนทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะทุกประเภททั้งรถยนต์ (BEV และ PHEV) รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการดึงดูดนักลงทุนและผู้ผลิต EV สัญชาติต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนทางตรงแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณามาตรการสนับสนุนอื่นๆ อย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันจนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย อาทิ มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น ส่วนลดหรืออัตราภาษีพิเศษเพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานควบคู่กับพาหนะประเภทอื่นๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งาน เช่น จำนวน EV Charging Station ที่ครอบคลุม, อัตราค่าบริการ หรือราคาแบตเตอรี่ที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อื่นๆ เช่น ยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ (Connected Vehicle) ผ่าน Internet of Things (IoT) หรือยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) ในอนาคต

อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตยานยนต์หลักของภูมิภาคจึงจำเป็นต้องแข่งขันอีกครั้งเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการครอบครองพื้นที่ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากอดีตนั่นเอง


Related Company News