Company News

EEC HIGHLIGHT





ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับคำถามค่อนข้างมากถึงข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการ EEC ที่ไม่ค่อยปรากฏบนหน้าสื่อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลที่แม้ว่า พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะยังคงเป็นประธาน กพอ. เช่นเดิมแต่ก็ชวนให้หลายท่านตั้งคำถามถึงความต่อเนื่องของโครงการ ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่นี้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจสำหรับท่านผู้อ่านอีกครั้งค่ะ

(1) การผลักดันและเดินหน้าสานต่อโครงการ

ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันโครงการ EEC ต่อไปอย่างเต็มที่ เนื่องจาก EEC เป็นโครงการลงทุนสำคัญของประเทศที่นอกจากจะมีเป้าหมายการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้วยังมีส่วนช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ช่วงที่ผ่านมามีหลายข่าวกำลังเป็นกระแสสังคมจึงทำให้พื้นที่สื่อหันไปโฟกัสเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โครงการ EEC ยังคงมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องโดยท่านรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธาน กพอ. พร้อมทั้งกำกับดูแล สกพอ. ก็เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องและเป็นผู้สนับสนุนโครงการ EEC ในฐานะภาคเอกชนมาตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ ตลอดจนท่านดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. และทีมงานผู้ปฏิบัติงานก็ยังคงช่วยดูแลขับเคลื่อนโครงการอยู่จึงทำให้สามารถมั่นใจถึงความต่อเนื่องของการพัฒนาตามแผนงานที่วางไว้

(2) ความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการ

มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในพื้นที่ 3 จังหวัด ระหว่างม.ค. ถึง ก.ย. 2563 รวมเท่ากับ 109,340 ล้านบาท (คิดเป็น 49% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งประเทศ) โดยเป็นมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เท่ากับ 63,925 ล้านบาท และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 53,058 ล้านบาท (คิดเป็น 58% และ 48% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมใน EEC)

รวมถึงมาตรการส่งเสริมและเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ของคณะกรรมการ BOI เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ มาตรการสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ก็ส่งผลให้คำขอรับส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งประเทศเท่ากับ 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งนอกเหนือจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนแล้ว ในปี 2564 ข้างหน้านี้ สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ได้วางเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC รวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาททั้งในส่วนงานเมกะโปรเจค การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีนวัตกรรม การจ้างงาน รวมถึงโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยเช่นกัน

(3) ข้อเสนออื่นๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงนามข้อตกลง RCEP ที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการของภูมิภาคเอเชียมีความเข้มแข็งกว่าเดิม รวมทั้งจุดเด่นด้านสถานที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานที่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจและจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กร/ สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่เองที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้สามารถต่อสู้กับคู่แข่งที่มาพร้อมกับการเติบโตของ E-Commerce รวมถึงการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าการผลิตของโลกจนสามารถเติบโตไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และเป็นกำลังสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปนั่นเอง


Related Company News