Company News

JUST IN CASE





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาทั่วโลกก็ได้รู้จักระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Management ที่มุ่งสร้างประสิทธิภาพสูงสุดผ่านปรัชญาการผลิตและส่งมอบสินค้าตามเวลาและปริมาณที่ต้องการภายใต้แนวคิด Just In Time (JIT) รวมถึงการนำ Lean Production มาประยุกต์ใช้จนเกิดเป็นกระบวนการผลิตแบบทันเวลาที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสำรองวัตถุดิบ/ สินค้าคงคลัง ต้นทุนการจัดเก็บบำรุงรักษาก่อนการส่งมอบ และการสูญเสียที่เกิดจากการรอคอย ของเสีย รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่จำเป็นได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ก็ส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของห่วงโซ่อุปทานและกลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของระบบการผลิตแบบ JIT เนื่องจากจุดอ่อนที่สำคัญของ JIT คือ การจัดเก็บและ stock วัตถุดิบ/ ชิ้นส่วนในปริมาณน้อยที่แม้จะดีในเชิงประสิทธิภาพแต่หากเกิดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่คาดคิดอย่างกระทันหันดังเช่นกรณีการปิดโรงงาน หรือ การ Lockdown ในประเทศต้นทาง อาทิ ประเทศจีนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การไม่มีวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่เพียงพอกลับจะเป็นผลเสียอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทานและอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียลูกค้าหรือถูกลดคำสั่งซื้อในอนาคตอีกด้วย

ช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตหลายรายจึงต่างหันกลับไปใช้กลยุทธ์ Just In Case (JIC) หรือการจัดเก็บและกักตุนสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเนื่องจาก Supply Chain Disruption รวมถึงการที่ระบบโลจิสติกส์และเส้นทางคมนาคมในบางพื้นที่ถูกตัดขาด COVID-19 จึงเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนที่ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบกระบวนการผลิตให้มีความสมบูรณ์แบบดั่งเช่นกรณีของระบบ JIT ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพจากความพอดีและทันเวลาเพียงเท่านั้นแต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงการจัดทำแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินงานได้อย่างทันท่วงทีซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (Resilience) และเกิดเป็นความทนทาน (Robustness) เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤตไปได้

ซึ่งหลายฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ข้างต้นนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความปกติใหม่ (New Normal) เนื่องจากการเรียนรู้จากวิกฤตที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจพิจารณาผ่อนคลายวิธีการบริหารจัดการการผลิตแบบ JIT ลงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทที่มีความซับซ้อนในการผลิตและต้องนำเข้ารวมไปถึงมีการใช้วัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตจำกัดที่อาจต้องมีมาตรการเพิ่มการจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น IoTs, Sensor, ระบบสารสนเทศ ฯลฯ เพื่อควบคุมสั่งการและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time) จึงยิ่งทวีความสำคัญต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในอนาคต ซึ่งโครงการ EEC เองก็จะมีบทบาทสนับสนุนทั้งด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอบรมแรงงาน ตลอดจนมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะชาวไทยให้สามารถ transform กระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รวมถึงมีความพร้อมในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

เหมือนที่ผู้เขียนมักจะย้ำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสว่าการจะตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงใดจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) นั้นจำเป็นต้องพิจารณาให้ดี อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญก็คือ เทรนด์ของโลกเรื่องเทคโนโลยีที่จะถูกประยุกต์ใช้ในอัตราเร่งและเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้นนับจากนี้นั่นเอง


Related Company News