Company News

INDIA: ON THE RISE





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ช่วงที่ผ่านมานับว่าเป็นปีทองของอินเดีย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงทำให้เรดาร์จากทั่วโลกต่างหันมาจับจ้องที่ดินแดนภารตะแห่งนี้ โดยระหว่างปี 2023-2024 GDP ของอินเดียขยายตัวถึงร้อยละ 7.6 รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียระหว่างปี 2024 – 2026 จะสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 6.0 – 7.0 เลยทีเดียว

ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอยู่ในอันดับ 5 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2030 หลายฝ่ายคาดว่า GDP ของอินเดียจะแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่นทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 และด้วยจำนวนประชากรของอินเดีย 1.429 พันล้านคนที่มากกว่าประชากรจีน 1.426 พันล้านคนไปแล้วนั้นก็ทำให้อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนั้นประชากรวัยทำงานกว่า 900 ล้านคนของอินเดียยังเป็นแรงงานที่สามารถพูดภาษาอังกฤษและมีทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล ส่วนหนึ่งเนื่องจากอินเดียมีหลักสูตรด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งความสำเร็จของอินเดียก็สะท้อนจากจำนวน CEO และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบิ๊กเทคชาวอินเดีย อาทิ คุณสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ของ Microsoft, คุณซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ของ Alphabet บริษัทแม่ Google, คุณอาร์วินด์ กฤษณะ (Arvind Krishna) ของ IBM รวมถึงบริษัทไอทีระดับโลกสัญชาติอินเดียต่างๆ เช่น Tata Consultancy Services, Infosys, Tech Mahindra เป็นต้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียทำให้หลายท่านตั้งคำถามว่า Is India the next China? จากข้อมูลพบว่า GDP per capita  ของอินเดีย ($2,612) น้อยกว่าจีน ($12,622) อยู่เกือบ 5 เท่า รวมถึงอินเดียยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายความเจริญที่ไม่สมดุลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียก็กำลังเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน รถไฟ ระบบสาธารณูปโภค และการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคเอกชนทั้งภาคการผลิตและการบริการ ตลอดจนความเข้มแข็งของระบบการเมืองแบบรัฐสภานับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 จนถึงปีนี้ที่อินเดียกำลังจะจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งก็ทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกการย้ายฐานการผลิตที่น่าสนใจของผู้ผลิตทั่วโลกภายหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากการล็อกดาวน์ และสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ประเทศอินเดียก็มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในหลายแง่มุมทั้งด้านประวัติศาสตร์ที่อินเดียมีอิทธิพลต่อศาสนา ประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมของไทยมาอย่างยาวนาน หรือด้านเศรษฐกิจที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรชั้นกลางทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้หลากหลาย รวมถึงโอกาสการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวอินเดียให้เดินทางเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม อินเดียและไทยต่างก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรมที่ดีกว่า เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบสาธารณสุข ฯลฯ แต่จุดเด่นของอินเดียก็คล้ายกับเวียดนามด้านแรงงานประชากรวัยทำงานและนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจังจึงทำให้อินเดียสามารถเป็นพันธมิตรที่สานผลประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนร่วมกันกับไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งที่ไทยจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป


Related Company News