ข่าวสารบริษัท

MICE





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจ MICE ย่อมาจาก Meeting, Incentive Travel, Conferences/ Conventions และ Exhibitions ดังนั้น MICE หรือ ไมซ์ จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพและมีกำลังซื้อสูง และทำให้ MICE สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงช่วยกระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ ธุรกิจที่พัก ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจอาหารและบันเทิง ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทางอ้อม เช่น การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

จากรายงานล่าสุดของสมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) ระบุว่า อุตสาหกรรม MICE ของไทยยังคงครองอันดับหนึ่งด้านการจัดประชุมนานาชาติของอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และขึ้นเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียด้วยจำนวนการจัดประชุมทั้งหมดจำนวน 193 งาน โดยเป็นรองจากประเทศญี่ปุ่น 492 งาน จีน 449 งาน และเกาหลี 273 งาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและทิศทางการเติบโตของธุรกิจ MICE ของไทยในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

ซึ่งเมกะโปรเจคด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการ EEC ก็ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ MICE รวมถึงข้อได้เปรียบจากการมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวอันหลากหลายอีกทั้งยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ปัจจุบัน TCEB จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษา MICE ภูมิภาคแห่งที่ 5 และโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในเขตพื้นที่ EEC โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 8 แห่งและคณะทำงาน EEC-HDC เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร MICE ทั้งการสร้างมาตรฐานวิชาชีพระดับสากล การกระจายองค์ความรู้และรายได้เพื่อตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB ของไทยได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2562 อุตสาหกรรม MICE ไทยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศรวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาทโดยแบ่งเป็นนักเดินทาง MICE ต่างประเทศจำนวน 1.3 ล้านคนคิดเป็นรายได้ 1 แสนล้านบาท และนักเดินทางในประเทศ 31 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 1.2 แสนล้านบาท และในปีนี้เอง TCEB ก็ตั้งเป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งด้านจำนวนนักเดินทางและรายได้จากการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 4.5 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวโน้มของอุตสาหกรรม MICE กำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้จัดการประชุมในหลายประเทศต่างได้เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เข้ามาใช้ในการวางแผนและจัดประชุม อาทิเช่น Social Media และ Internet กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์การประชุม ตลอดจนเทคโนโลยี 5G ก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ MICE สามารถให้บริการการประชุมเสมือนและการประชุมออนไลน์ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์การประชุมที่ดีควบคู่ไปกับการจัดการประชุมแบบออฟไลน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนมาผนวกเข้ากับการจัดการประชุมตามแนวคิดการจัดงาน MICE อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกสถานที่จัดงาน การจัดงานแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดของเสีย การจ้างงานชุมชน เป็นต้น

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรม MICE ของภูมิภาคแต่การพัฒนา MICE ของไทยให้เติบโตต่อไปในอนาคตก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไปสู่การเป็น SMART MICE โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลทำให้เกิดช่องว่างทางธุรกิจการเดินทางและการประชุมซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ Virtual Live Meeting ให้ก้าวหน้าจนกลายเป็นอีกหนึ่งสาขาของ MICE ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคตนั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง