ข่าวสารบริษัท

ASEAN Growth and Rising Industries





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทิศทางและเหตุการณ์สำคัญของโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 สำหรับสัปดาห์นี้ เราจะมาพูดคุยถึงหนึ่งในภูมิภาคที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกและนับวันจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอุตสาหกรรมที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ส่งเสริมให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้มีการเติบโตที่ดีอย่างโดดเด่นไปพร้อมๆ กัน

ภูมิภาคเอเชียนั้นนับเป็นภูมิภาคที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมสำคัญของโลกมากมายอันเป็นผลมาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมืองและแนวความคิด ปัจจุบันทวีปเอเชียมีประชากรราว 4.6 พันล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลกเลยทีเดียว

ด้วยความได้เปรียบในเชิงจำนวนประชากรวัยแรงงาน หลายประเทศในภูมิภาคนี้จึงมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับปี 2023 เท่ากับ 4.2% สูงกว่าตัวเลข GDP ของโลกซึ่งโตราว 3.0% ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียนจะสูงถึง 4.5% ในปี 2024 เลยทีเดียว โดยประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ (5.9%) เวียดนาม (5.8%) อินโดนีเซีย (5.0%) มาเลเซีย (4.3%) และ ไทย (3.2%) ตามลำดับ

อีกทั้งยังมีภาคอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นสิ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวและสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EVs ซึ่งภาครัฐของแต่ละประเทศก็ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีมาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาแบตเตอรี่รายใหญ่จากต่างชาติ ตลอดจนรัฐบาลของเวียดนามและมาเลเซียที่ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า/ ผู้ผลิต local brand ของตนอย่างจริงจัง รวมถึงประเทศไทยที่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 อย่าง EV 3.5 ที่เป็นมาตรการส่งเสริมต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3.0 ในปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็ต่างให้ความยอมรับและความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ดังสะท้อนจากยอดจองและยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นได้รับอานิสงส์จากกระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุน/ การผลิตออกจากประเทศจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกอย่างมาก ได้แก่ เวียดนามและไทย ที่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกสำคัญของภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอย่าง Foxconn ที่มีแผนขยายโรงงานผลิตในประเทศเวียดนามและอินเดีย หรือ Apple ที่มีความสนใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นต้น ประกอบเข้ากับการเติบโตของธุรกิจ Data Center, Cloud Computing และ IoT ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ที่ภูมิภาคเอเชียพยายามขับเคลื่อนไปสู่การพึ่งพาพลังงานที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติการเพื่อความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนปี 2016 ถึงปี 2025 ที่มีเป้าหมายในการบรรลุสัดส่วนพลังงานทดแทนที่ 23% จากพลังงานทั้งหมดภายในปี 2025 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานสะอาดของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ในทุกระดับตั้งแต่ ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน เพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัย Mordor Intelligence ที่ได้คาดการณ์ว่าตลาดพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคนี้จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีราว 7.4% ตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2028 เลยทีเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง