ข่าวสารบริษัท

ยุคใหม่ของดับบลิวเอชเอกรุ๊ป: เส้นทางสู่ความสำเร็จ





แผนขยายธุรกิจ 5 ปี (2559 - 2563) ลงทุนรอบด้าน ด้วยงบลงทุน 43,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งสี่กลุ่มธุรกิจ

กรุงเทพฯ/ 9 สิงหาคม 2559 – ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ประกาศแผนขยายธุรกิจ 5 ปี ด้วยงบลงทุน 43,000 ล้านบาท รองรับเป้าหมายของบริษัทในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

หลังจากที่ได้มีการควบรวมกิจการกับบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปเริ่มเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอมองเห็นโอกาสที่ดีและสำคัญอย่างยิ่งจากโครงการของรัฐบาลที่จะพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของดับบลิวเอชเอ อันได้แก่ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจดิจิทัล ล้วนสอดรับกับเป้าหมายและการพัฒนาของโครงการ EEC ในการจัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลและโรงงานหรือคลังสินค้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยทำให้ซูเปอร์คลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นได้

“ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปมีความพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการ EEC ให้เกิดขึ้น” คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว “เหมราชฯ บริษัทลูกของเรา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคลัสเตอร์ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และตอนนี้ เราก็มุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคตด้วย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล การบิน หุ่นยนต์ พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และสุขภาพ” เธอกล่าวเพิ่มเติม

กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เตรียมทุ่มงบ 14,000 ล้าน

กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ ซึ่งมีชื่อเสียงจากธุรกิจหลักที่พัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซ็ปท์ “Built-to-Suit” (BTS) จะเติบโตขึ้นด้วยการลงทุนเพิ่มเติมอีก 14,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี เพื่อขยายกิจการด้านโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ

ในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอจะเน้นเป้าหมายหลักสองอย่าง เป้าหมายแรกคือ มุ่งหน้าพัฒนาอาคารมูลค่าสูง ให้เช่าทั้งคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit (BTSW) โรงงานแบบ Built-to-Suit (BTSF) Warehouse Farm ที่มีทั้งคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit และแบบสำเร็จรูป (Ready-Built) คลังสินค้าหรือโรงงานแบบ Built-to-Own (BTO) ตามต้องการของลูกค้า และสำนักงานแบบ Built-to-Suit

เป้าหมายที่สองคือ บริษัทจะสนับสนุนและใช้โอกาสจากนโยบายของรัฐบาล ที่จะสร้างซูเปอร์คลัสเตอร์ใหม่ๆ ตามแผนการผลักดันโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล “ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ ในอีสเทิร์นซีบอร์ด” คุณจรีพร กล่าว “เราตั้งใจว่าจะพัฒนาพื้นที่ราว 500 ไร่ ไว้รองรับอุตสาหกรรมการบินและหุ่นยนต์บริเวณใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์หลัก สำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ขนส่งสินค้า และเครื่องจักรอัตโนมัติ” และในเดือนที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอเพิ่งส่งมอบโรงงานผลิตอากาศยานแบบ Built-to-Suit ขนาด 15,600 ตารางเมตร ให้แก่บริษัทโอมาดะ อินเตอร์เนชั่นแนล จากประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับตลาดต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มีการวางแผนที่จะขยายพื้นที่บริการราวร้อยละ 10 ภายในระยะเวลา 5 ปีในประเทศอินโดนีเชีย และประเทศต่างๆ อาทิ เวียดนาม และต่อไปอาจจะเป็นพม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการสูงในด้านอุตสาหกรรมภายในประเทศ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่คลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ขนาด 25,000 ตารางเมตร ในเวสต์ จาการ์ตา ซึ่งบริษัทลงทุนเองทั้งหมดด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นอีกรายในช่วงปี 2560 เพื่อพัฒนาคลังสินค้าในสุราบายา

“อินโดนีเซียและเวียดนามมีความต้องการบริการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและมีมูลค่าเพิ่ม” คุณจรีพร กล่าวอธิบาย “แผนของเราที่จะไปลงทุนในประเทศเหล่านี้คือ เติบโตไปด้วยกันทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยอาศัยการผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของเราเอง รวมไปถึงพันธมิตรบริษัทใหญ่ๆ ของเรา อาทิ บริษัท ไดวะ เฮ้าส์ อินดัสทรี ” ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล และเคพีเอ็น เพื่อพัฒนาคลังสินค้าระดับเวิลด์คลาส และเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทยังได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ไดวะ เฮ้าส์ อินดัสทรี ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านโรงงานและคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit จากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มีการลงทุนในประเทศเวียดนามด้วย

ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ของดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่คลังสินค้าโลจิสติกส์แบบ Built-to-Suit โรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูป รวม 2.2 ล้านตารางเมตร และในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 ล้านตารางเมตรในประเทศไทย และประมาณ 300,000 ตารางเมตรในต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท

ในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ของดับบลิวเอชเอ วางแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่งในอีสเทิร์นซีบอร์ด และอีก 2 แห่งในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย และเริ่มการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน

ในประเทศไทย จากการควบรวมกิจการกับเหมราชฯ ที่มีประสบการณ์กว่า 27 ปีด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ทำให้กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ มีนิคมอุตสาหกรรมคุณภาพระดับโลกเปิดให้บริการแล้ว 8 แห่ง และอีก 2 แห่งในอีสเทิร์นซีบอร์ดและสระบุรีที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทั้งหมดตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ โดยมีที่ดินรวมกว่า 45,000 ไร่ ทำให้กลุ่มดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนการตลาดร้อยละ 32 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอมีที่ดินรอพัฒนาอีก 11,000 ไร่ และวางแผนจะซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกในปี 2561 และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่อีก 4 แห่งในปีถัดไป นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทุกแห่งได้รับการออกแบบและพัฒนาให้เป็น “สมาร์ท ดิสทริค” และครบครันด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัย โดยยังคงเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม อาทิ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตอีก 5 กลุ่ม คือ ดิจิทัล การบิน หุ่นยนต์ พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

“อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ รวมทั้งนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป” มร. เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ ของกลุ่มดับบลิวเอชเอ อธิบาย “นักลงทุนมองว่าประเทศไทยน่าสนใจ เพราะทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนที่ไม่แพง และทักษะของบุคลากร ยังไม่ต้องพูดถึงคุณภาพชีวิต” เขากล่าว

กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เริ่มต้นจากเวียดนาม โดยอาศัยเครือข่ายลูกค้าของบริษัท และระบบคมนาคมในภูมิภาคที่มีการพัฒนาให้เชื่อมโยงที่ดีขึ้น ทั้งถนน รถไฟ ระบบขนส่งทางอากาศและทางเรือ การสัญจรของประชาชน และการพัฒนาด้านการค้า

“เราวางแผนที่จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขึ้น 2 แห่งในเวียดนาม รวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่” มร. เดวิด นาร์โดน กล่าว “เป้าหมายแรกของเราในเวียดนามคือ อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและสิ่งทอ”

กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ทุ่ม 11,000 ล้านบาท

ดับบลิวเอชเอวางแผนที่จะลงทุนงบประมาณ 11,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้าในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มของนิคมอุตสาหกรรม จะยังคงพัฒนาและเติบโตธุรกิจควบคู่ไปกับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในและต่างประเทศ

ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 13 โครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,537 เมกะวัตต์ ในราวปี 2562 ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และโซล่าร์รูฟท็อป ที่กำลังดำเนินการอยู่ 6 แห่ง ผลิตไฟฟ้าได้รวม 1,655 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) อีก 7 แห่งที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมอีก 882 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึง 2562 ตามลำดับ และในปี 2562 ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปจะมีสัดส่วนการถือครองกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 538 เมกะวัตต์ โดยโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้สัญญาร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในไทยและต่างประเทศ อาทิ โกลว์ เอ็นเนอร์จี กัลฟ์ พาวเวอร์ และ บี กริม

ดับบลิวเอชเอจะพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ บนพื้นที่หลังคาที่มีอยู่ราว 2 ล้านตารางเมตร ยิ่งไปกว่านั้น ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการพลังงานจากขยะร่วมกับพันธมิตรอีกด้วย

ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งให้บริการน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบจัดการน้ำเสีย จะยังคงขยายบริการในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทั้งหมด ซึ่งดับบลิวเอชเอกรุ๊ป เป็นผู้ให้บริการด้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตรวมถึง100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะพัฒนาเพื่อให้บริการไปยังพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม และต่างประเทศ

โดยธุรกิจกลุ่มนี้ไม่เพียงจะทำให้ลูกค้าของบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นใจ แต่ยังสร้างสัดส่วนรายได้จำนวนมากในรูปแบบของรายได้ต่อเนื่องที่มีกำไรสูง ผ่านเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไร

“ทางด้านไฟฟ้า เราจะมองหาโอกาสที่จะลงทุนมากขึ้นในโครงการโรงไฟฟ้าแบบเดิมร่วมกับพันธมิตรของเรา ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม” มร. เดวิด นาร์โดน อธิบาย “สำหรับด้านสาธารณูปโภค เราวางแผนที่จะนำเสนอบริการที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยบริการจ่ายก๊าซธรรมชาติ และการสื่อสารผ่านใยแก้วนำแสง ทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรมของเราในประเทศไทย ส่วนต่างประเทศ เวียดนามและพม่าจะเป็นประเทศแรกๆ สำหรับการลงทุนของกลุ่มธุรกิจนี้” เขากล่าวเพิ่มเติม

ทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาทในกลุ่มธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม

ดับบลิวเอชเอมีแผนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3-5 แห่ง ในช่วงปี 2559-2563 โดยศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่งแรกจะพร้อมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2559 ส่วนแห่งที่ 3 คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2561 ตามด้วยอีก 2 โครงการภายในปี 2565 ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณย่านพระราม 2 และวังน้อย

ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้จะให้บริการโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ให้เช่าและจัดหาบริการด้านอุปกรณ์ไอที คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า บริการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเครื่องจักรอัตโนมัติ เครื่องมือตรวจสอบและระบบควบคุม เครื่องหาปริพันธ์ระบบ ไปจนถึงบริการอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ยังมีบริการโครงข่ายไฟเบอร์ออพติค (FTTx) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของดับบลิวเอชเอกรุ๊ปอีกด้วย

กลุ่มเทคโนโลยีไอทีและการสื่อสารนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย ซึ่งดับบลิวเอชเอเล็งเห็นถึงความสำคัญและการเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยภายในอีกสามปีข้างหน้า เอเชียจะมีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ด้วยการเติบโตของระบบอีคอมเมิร์ซ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ และบทบาทของ “บิ๊กดาต้า” ที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ด้วยการเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรสำหรับบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมบริการและโซลูชั่นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ครบครัน อีกทั้งยังจับมือทำงานร่วมกันกับพันธมิตรผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย ในการให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ โครงข่ายไฟเบอร์ออพติค และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

“ในปัจจุบัน ดาต้าถือได้ว่าเป็น “ขุมทรัพย์ใหม่ (New Oil)” และเราตั้งใจที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย” คุณจรีพร จารุกรสกุล กล่าว “เราจะส่งมอบบริการโครงข่ายโทรคมนาคมและไอทีระดับเวิลด์คลาสให้แก่ลูกค้า พร้อมสร้างดาต้าโซลูชั่นและแพลตฟอร์มแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้า ทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ เติบโตและมีศักยภาพที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

“สำหรับดับบลิวเอชเอกรุ๊ป เส้นทางสู่ความสำเร็จ เราหวังว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งในภูมิภาค และคาดว่า ในราวปี 2563 กรุ๊ปของเราจะมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรสูงเกิน 21,000 ล้านบาท” เธอกล่าวสรุป

*****

เกี่ยวกับ WHA Group

WHA ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2546 โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะส่งมอบโซลูชั่นด้านอาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานให้แก่ลูกค้าทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ WHA Group ถือเป็นผู้นำการพัฒนาและการให้บริการศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานแบบ Built-to-Suit โรงงานและคลังสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในตลาดนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของประเทศไทยที่มีการแข่งขันสูง

หลังการเข้าซื้อกิจการบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนมีนาคม 2558 WHA Group ได้กลายเป็นผู้ให้บริการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

WHA Group เป็นผู้นำธุรกิจแบบครบวงจร ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

เว็บไซต์: www.wha-group.com www.wha.co.th

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

คุณวันดี เลิศสุพงศ์กิจ
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โทร: 02 233 4338 ต่อ 19 แฟกซ์: 02 236 8030
อีเมล: pr@francomasia.com

โลโก้ใหม่

ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปเผยโลโก้ใหม่ ที่ออกแบบเพื่อสะท้อนถึงพละกำลังและการรวมกันเป็นหนึ่งของกลุ่มธุรกิจหลักทั้งสี่กลุ่มของบริษัท และเป้าหมายที่จะเป็น “พันธมิตรหนึ่งเดียว” ที่สามารถตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าได้ทุกด้าน

โลโก้ใหม่ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท ที่เริ่มจากการพัฒนาคลังสินค้าคุณภาพชั้นนำระดับโลก ด้วยตัวหนังสือคำว่า WHA สีน้ำเงิน ที่หมายถึงบริษัทเดิมชื่อ “WHA Warehouse Asia” สีของโลโก้ได้รับการปรับใหม่ เพื่อให้ดูทันสมัย และมีเฉดสีที่อ่อนลง

ส่วนเส้นคู่สีแดง ซึ่งในอดีตหมายถึงความมั่นคงของธุรกิจ ได้รับการปรับให้เป็นเส้นโค้งสีแดง เปี่ยมด้วยพลัง ความรวดเร็ว และบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง และโลโก้นี้ยังเป็นเครื่องหมายของโซลูชั่นด้านธุรกิจแบบครบวงจรที่กำลังขยายตัวของกลุ่ม สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศของบริษัทอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง