Company News

HEALTH & WELLNESS





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 130 ล้านคนทั่วโลก แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้แก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามหลายประเทศยังพบการระบาดระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การระบาดดังกล่าวได้ส่งผลให้ประชากรโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ดี (Health & Wellness) ในขณะเดียวกันยัง กระตุ้นให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยนั่นเอง

แนวคิดการรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ดีนั้นกำลังเป็นที่สนใจของประชากรทั่วโลก โดยองค์กร IMF ได้เปิดเผยว่าตลาด Global Health & Wellness มีมูลค่าสูงถึง 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2557-2559 เท่ากับร้อยละ 6.4 ต่อปีเลยทีเดียว สำหรับปี 2564 องค์กร Global Wellness Institute เองก็ได้รายงานเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย Home Wellness, การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) และบริการ Virtual Care เป็นต้น อย่างไรก็ตามกระแสการดูแลสุขภาพนั้นก็จะยังคงมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอก 3 ที่เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการระบาดในครั้งก่อนๆ ซึ่งก็ได้ส่งผลให้ผู้คนต่างต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและตื่นตัวในกระแสรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยสวนดุสิตโพลก็ได้ทำการสำรวจและพบว่ามีประชากรไทยหันมาใส่ใจการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้นถึงร้อยละ 45.4 เลยทีเดียว นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ยังช่วย เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานบริการทางการแพทย์ อาทิ การนำเอาแนวคิดแพทย์ทางไกลมาปรับใช้กับการเฝ้าติดตามอาการและสัญญาณชีพของผู้ป่วย COVID-19 ผ่านกล้องที่ติดตั้งไว้ในห้องผู้ป่วย รวมถึงการนำเทคโนโลยี Blockchain มาติดตามผู้ติดเชื้อและตรวจหาผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 เป็นต้น

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข อีกทั้งยังมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรและงานบริการด้านการแพทย์ที่สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพและความเป็นอยู่ดีในยุคปัจจุบัน อาทิ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ สมุนไพร และการแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ประเทศไทยมีความพร้อมและความชำนาญผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น โครงการ EEC เองที่ได้กำหนดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ผ่านการส่งเสริมให้มีการ นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน โดยมีตัวอย่างจากต่างประเทศเช่น การพัฒนาอุปกรณ์ smart device ของบริษัท Binah.ai ที่สามารถรายงานข้อมูลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Healthcare) ได้แบบ real-time และชุดตรวจทางการแพทย์ของบริษัท Tyto Care ที่ช่วยให้คนไข้สามารถปรึกษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นกับแพทย์ทางไกลผ่าน VDO Call ได้โดยไม่ต้องไปเข้าคิวรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล (Telemedicine) เป็นต้น

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะคว้าโอกาสจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ที่แข็งแกร่ง บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และ Medical Tourism ที่ไทยมีความได้เปรียบมายาวนาน ตลอดจนเร่ง นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ของกระแสใส่ใจสุขภาพ ยกระดับทางสังคมโดยการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสมทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมดังกล่าวยังถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วยนั่นเอง


Related Company News