Company News

Biden’s Policy





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 ระหว่าง Joe Biden และประธานาธิบดี Donald Trump จากผลการเลือกตั้ง Biden จากพรรค Democrat สามารถคว้าชัยชนะและจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ในเดือนมกราคมปี 2021 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้นโยบายหลักของ Biden สามารถสรุปเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านเศรษฐกิจ Biden มุ่งเน้นการเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงเพื่อนำมาลงทุนในระบบสาธารณะและการสร้างงาน รวมถึงเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (2) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Biden มีนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร ตลอดจนยกเลิกนโยบายการจัดเก็บภาษีการค้าฝ่ายเดียวกับจีนและเปลี่ยนเป็นข้อตกลงร่วมกันแทน (3) ด้านสิ่งแวดล้อม Biden สนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีแผนพาสหรัฐกลับเข้าร่วม Paris Climate Agreement

(4) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข Biden มีนโยบายขยายการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act และสนับสนุนโครงการประกันสุขภาพผู้สูงอายุ Medicare โดยวางแผนลดข้อกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับความคุ้มครองแก่ประชาชน (5) ด้านการจัดการ COVID-19 Biden วางแผนจัดตั้งโครงการติดตามผู้ติดเชื้อ ศูนย์ให้บริการตรวจเชื้อฟรี ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกรัฐออกข้อบังคับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ของรัฐอีกด้วย

แต่ในส่วนของผลการเลือกตั้งรัฐสภา (Congress) ที่ยังไม่สิ้นสุดก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองไปถึงสถานการณ์ “Split Congress” แทนที่จะเป็น “Blue Wave” กล่าวคือ Democrat สามารถคุมเสียงในสภาล่าง (House) ขณะที่ Republican ครองเสียงข้างมากในสภาสูง (Senate) หากผู้แทนของ Republican ได้รับชัยชนะจาก run-off election ของรัฐ Georgia ในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งกรณี Split Congress นี้ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ของ Biden อาทิ การขึ้นภาษี การผ่านร่างงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การบังคับใส่หน้ากากอนามัย หรือการปิดเมืองทั่วประเทศ ฯลฯ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านสภาออกมาเป็นกฎหมายที่ทั้งพรรค Democrat และ Republican ต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของ Biden ที่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและข้อตกลงการค้าเสรี The Trans-Pacific Partnership (TPP) มาโดยตลอดก็ทำให้มีแนวโน้มที่สหรัฐจะกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อีกครั้ง รวมถึงการสานต่อบทบาทในองค์กรพหุภาคี อาทิ WTO และ NATO อีกด้วย หากพิจารณาถึงปัญหาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะยังดำเนินต่อไปและไม่ได้ข้อยุติในเร็ววัน โดยสหรัฐจะยังคงกดดันจีนให้ดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นผู้กำหนดเพียงแต่เปลี่ยนวิธีการจากการใช้มาตรการทางภาษีเป็นการใช้ประเทศพันธมิตรในการกดดันจีนนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย นโยบายของ Biden ที่เน้นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศนับเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้า ซึ่งแรงกดดันต่อจีนและความต้องการแยกห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยังคงมีอยู่ก็จะส่งผลทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานทักษะ รวมถึงมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนต่างๆ ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและมีมูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนการนำข้อตกลง CPTPP ที่สหรัฐอาจกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งมาพิจารณาและศึกษาข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างถ่องแท้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนในระยะยาวนั่นเอง


Related Company News