ข่าวสารบริษัท

DIGITAL ECONOMY





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

เมื่อไม่นานนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์และเป็นผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างมากเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นได้แทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน รวมถึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะในยุค New Normal ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่นี้เพื่อสรุปสาระที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในวงกว้างอีกครั้งค่ะ

  1. ประเทศไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายหลังสถานการณ์ COVID-19

Digital Economy เป็นคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกในปี 1995 โดยคุณ Don Tapscott และได้รับการพูดถึงเรื่อยมาจนกลายเป็น Global Megatrend ที่ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยจะต้องเดินหน้าและปรับเปลี่ยนให้ได้อยู่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้ามาเป็นปัจจัยที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นและเป็นตัวเร่งที่ทำให้การ transform เกิดเร็วมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราทุกคนสามารถปรับพฤติกรรมให้ Work From Home, เรียนหนังสือทางไกล, ใช้บริการ food delivery ตลอดจนคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าและเริ่มใช้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ดังเห็นได้จากการเติบโตอย่างมากของธุรกิจ E-Commerce และ Digital Healthcare เช่น Telemedicine ในช่วงผ่านมา ซึ่งก็นับว่าเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของฝั่งผู้ให้บริการ รวมถึงการยอมรับจากฝั่งผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความเคยชินกับเทคโนโลยีดิจิทัลและวิถีการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่นี้ก็มีแนวโน้มจะยังคงดำเนินต่อไปในยุค New Normal นั่นเอง

  1. ความก้าวหน้าตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ Digital Economy และ Digital Society ระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะการลงทุนใน Hard Infrastructure ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคมที่ตอนนี้เราพัฒนาไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากโดยทุกวันนี้เรามีระบบอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกจังหวัดจนทำให้อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยของคนไทยสูงถึงร้อยละ 75 รวมทั้งในหลายๆ พื้นที่ก็มีการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและไฟเบอร์ออฟติกที่สามารถต่อยอดไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคตได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนา Soft Infrastructure ทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อาทิ ทักษะแรงงานและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่ยังมีจำนวนน้อย ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และการส่งเสริมธุรกิจ Startup ต่างๆ ให้สามารถเติบโตไปจนถึงเรื่องของความปลอดภัยไซเบอร์ทั้งด้านเทคโนโลยี ความเข้าใจตระหนักรู้ และการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป  

นอกจากนั้น แผนงานดิจิทัลฯ ยังครอบคลุมถึงโครงการรัฐบาลดิจิทัลที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการ อาทิ กำหนดให้มีการจัดเก็บและพัฒนาฐานข้อมูลกลาง ลดการใช้กระดาษ ตลอดจนนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานและติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย

  1. ข้อเสนอแนะด้านความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ

ภาครัฐต้องเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ระดับประเทศโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ฯลฯ การกำหนดทิศทางและสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการ transform และผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก Middle Income Trap โดยภาครัฐต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งภาคเอกชนรวมถึงสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่อยู่แล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง