Company News

DATA DRIVEN ORGANIZATION





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อาทิตย์นี้จะเป็นตอนสุดท้ายของงานเขียนชุด “Data is the new oil” ซึ่งสะท้อนโลกธุรกิจยุคดิจิทัลที่ข้อมูลได้กลายเป็นทรัพย์สินมีค่ามหาศาลโดยเราจะมาคุยต่อถึงแนวทางการสร้าง Data-Driven Organization และ Data-Driven Culture ภายในองค์กรกันค่ะ

เมื่อนำคีย์เวิร์ดมารวมกัน Data (ข้อมูล) + Driven (ขับเคลื่อน) + Organization (องค์กร) จึงหมายถึง การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลหรืออีกนัยหนึ่งก็คือการนำข้อมูลมาใช้สำหรับกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ขององค์กร ซึ่ง Data-Driven Organization ที่ประสบความสำเร็จนั้นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทในกลุ่ม Technology หรือบริษัทที่มี business model เกี่ยวข้องกับข้อมูล อาทิ กลุ่ม FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google) หรือกลุ่ม BAT (Baidu, Alibaba, Tencent) เท่านั้น บริษัท Non-Tech ก็สามารถเป็น Data-Driven Organization โดยการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน

ตัวอย่างของผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ถูก disrupt โดยการเข้ามาของผู้เล่น online ได้แก่ Walmart ที่มีการจัดตั้ง Data Café และ Walmart Labs เพื่อเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์และวิจัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากสาขาของ Walmart ที่มีอยู่ทั่วโลกและนำมาใช้สำหรับการออกแบบนโยบายสำคัญ ซึ่งศูนย์ข้อมูลนี้ก็ช่วยให้ Walmart สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น ราคาสินค้า พฤติกรรมลูกค้า คุณภาพการให้บริการ ตลอดจนสามารถกระจายอำนาจการตัดสินใจให้แก่สาขาหรือผู้ควบคุมงานที่นอกจากจะช่วยสร้างยอดขายแล้วยังช่วยลดระยะเวลาการแก้ปัญหาและการจัดการงานประจำวันลงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่จะปรับเปลี่ยนหรือ transform องค์กรให้กลายเป็น Data-Driven Organization นั้นก็จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้งานข้อมูลหรือ Data-Driven Culture ที่ปลูกฝังการให้ความสำคัญกับการจัดเก็บ วิเคราะห์ และตีความข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยลำพังแค่ทีมงาน Data Science หรือ Business Intelligence ทีมเดียวคงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องปลูกฝังหรือสร้างทัศนคติ (mindset) ให้ทุกคนในองค์กรเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อนำ Insights ไปประยุกต์ใช้จริงในงานของตน เช่น การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พนักงานทดสอบหรือทดลองประยุกต์ใช้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe/ Test environment) การสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันข้อมูล (Open & Sharing culture) ความโปร่งใสและต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงจุดหมายที่ทุกคนในองค์กรเห็นภาพเดียวกัน เป็นต้น

ความท้าทายจึงไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีแต่เป็นทัศนคติของบุคลากรภายในองค์กรและทำให้การ transform ไปสู่ Data-Driven Organization ต้องเริ่มจากระดับผู้บริหารขององค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของข้อมูลว่าเป็น Strategic Asset และเป็นผู้นำในการวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนา Ecosystem ที่จะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนไปสู่ Data-Driven Organization ตัวอย่างเช่น (1) การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย เช่น การกำหนด Digital Strategy หรือการวางยุทธศาสตร์ในการนำข้อมูลมาใช้อย่างชัดเจน (2) การจัดเก็บข้อมูลและการลงทุนด้าน Infrastructure เช่น การพัฒนา Data Lake ฐานข้อมูล รวมถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน (single source of truth) (3) การวิเคราะห์ เช่น การจัดหาเครื่องมือ Data Analytics และทีมงาน/ ผู้เชี่ยวชาญ/ บุคลากรด้านข้อมูลที่เหมาะสมกับองค์กร และ (4) การส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ผ่านการ enable, encourage และ empower ให้พนักงานทุกระดับสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับตนได้ เป็นต้น

สุดท้ายนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้ก็คือ การเริ่มต้นให้ได้สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเริ่มต้นให้ถูก และการเป็น Data-Driven Organization ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดหรือต้องอยู่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้นแต่ทุกองค์กรสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่ข้อมูลกลายเป็นเรื่องของทุกคนได้เช่นเดียวกันค่ะ


Related Company News