Company News

CHINESE INVESTMENT





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผู้เขียนมักพูดเมื่อมีโอกาสเสมอว่า โลกกำลังหมุนจาก “Western” มา “Eastern” ปัจจุบันทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่ถูกทั่วโลกจับตามองด้วยจำนวนประชากร 4.5 พันล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก และเป็นผู้ครอบครอง GDP ที่มีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ซึ่งความโดดเด่นนี้ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของประเทศที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของทวีปเอเชียนับตั้งแต่อดีต คือ ประเทศจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน และ GDP at Purchasing Power Parity (PPP) 27.3 ล้านล้านดอลลาร์แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้วและส่งผลทำให้ประเทศจีนกลายเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในภูมิภาคและของโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้

เมื่อพิจารณานโยบายสำคัญของรัฐบาลจีนที่มีการประกาศช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (1) Made in China 2025 แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนที่เน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพสังคม (2) Belt and Road Initiatives (BRIs) ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการขนส่งคมนาคม พลังงาน และโทรคมนาคมสื่อสารตามแนวคิดของเส้นทางสายไหมโบราณ และ (3) โครงการ The Greater Bay Area (GBA) เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก

นโยบายและโครงการสำคัญต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน แรงงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดตัวเร่งหรือ Catalyst สำคัญ คือ สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการชาวจีนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนจนยอด FDI ของนักลงทุนชาวจีนที่ไหลเข้ามาในไทยปี 2562 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท (รวมโครงการรถไฟความเร็วสูง 1.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2561 และขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 สูงกว่านักลงทุนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้การย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการทั้งชาวจีนและชาติต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์ China Plus One นั้นก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้มาตรการ Lockdown จนทำให้เกิด Supply Chain Disruption ในหลายอุตสาหกรรมและแม้ว่ามาตรการจำกัดการเดินทางจะทำให้ FDI ในไตรมาสที่ 2 ของไทยชะลอตัวลงแต่ยอดเงินลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนจีน-ฮ่องกงช่วงครึ่งปีแรกก็ยังมีมูลค่ารวม 2.1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก BOI ก็ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการของบริษัทจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมากเนื่องจากหลายโครงการอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและตรงกับ 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ EEC อาทิ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น SAIC Motor, Great Wall Motor, Skywell (2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น Midea, Haier (3) อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Huawei ที่ได้รับส่งเสริมภายใต้โครงการ Huawei Academy เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G, AI และนวัตกรรมด้านดิจิทัลสมัยใหม่ และ (4) อุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น บริษัท BGI สำหรับการวิเคราะห์สารพันธุกรรม รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์อื่นๆ

ผู้ประกอบการชาวจีนจึงเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องและขยับอันดับการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเม็ดเงินการลงทุนทางตรงแล้ว การวางแผนและกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยได้อย่างยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่ควรละเลยเพื่อช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้ามาของนักลงทุนชาวจีนนั่นเอง


Related Company News