Company News

GREATER MEKONG SUBREGION





คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

GMS หรือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเขตเศรษฐกิจธรรมชาติที่ประกอบด้วยประเทศจีน (มณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ลาว พม่า ไทย เวียดนามและกัมพูชา โดยในปีพ.ศ. 2535 ทั้ง 6 ประเทศสมาชิกก็ได้ร่วมกันจัดตั้งกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันมาอย่างยาวนาน

ซึ่งประเทศสมาชิกก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน 3 ประการ คือ (1) Connectivity การสร้างความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (2) Competitiveness การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันโดยการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้คนและเดินทางข้ามพรมแดน (3) Community การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

แนวความคิดการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งและการอำนวยความสะดวกผ่านพรมแดนของ GMS จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่สำคัญทั้ง 3 แนว คือ (1) North-South Economic Corridor (NSEC) หรือแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ที่ครอบคลุมประเทศจีน – ลาว – ไทย (2) East-West Economic Corridor (EWEC) หรือแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกจาก พม่า (มะละแหม่ง) – ไทย (แม่สอดและมุกดาหาร) – ลาว (แดนสะหวันและลาวบาว) - เวียดนาม (ดานัง) และ (3) Southern Economic Corridor (SEC) หรือ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ที่ครอบคลุม พม่า (ทวาย) – ไทย (กาญจนบุรี) – กัมพูชา (เสียมเรียบและพนมเปญ) – เวียดนาม (กวีเญินและวุงเตา)

โดยตลอดเส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจประเทศสมาชิกต่างก็ริเริ่มพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้า การลงทุนและการเชื่อมโยงกิจกรรมการผลิตระหว่างกัน อาทิ การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด (จ.ตาก) และเขตการค้าเมียวดี – นิคมเมียวดีบนเส้นทาง EWEC ผ่านโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เช่น การขยายทางหลวงสายตาก - อ.แม่สอดเป็น 4 ช่องทางจราจร การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – พม่าแห่งที่ 2 รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงสนามบินแม่สอดให้สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้น อีกหนึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญภายใต้เส้นทาง SEC คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายที่ได้รับการออกแบบให้เป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาคและเป็นเส้นทางลัดสู่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปที่จะเชื่อมโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในปี 2558 รัฐบาลไทย - พม่า – ญี่ปุ่น ก็ได้มีการลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายร่วมกัน ตลอดจนได้มีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อประสานงาน สนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการทวายร่วมกันอีกด้วย

โครงการทวายจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเชื่อมโยงกิจกรรมการผลิตและห่วงโซ่คุณค่าของโครงการ EEC เข้ากับแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางทวาย – กาญจนบุรี – กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – สระแก้ว – พนมเปญ – วุงเตา ซึ่งหากสามารถร่วมกันพัฒนาจนเป็นผลสำเร็จก็จะทำให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจสมบูรณ์ที่เชื่อมโยงคาบสมุทรอินโดจีน มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน โดยตลอดมารัฐบาลไทยเองก็มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายหรือท่าเรือติละวาเข้ากับท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังผ่านโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์และงานโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ รวมถึงแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ อีกด้วย

แม้ว่าข้อตกลง GMS จะมีอายุเกือบ 3 ทศวรรษแล้วก็ตามแต่แนวความคิดและกรอบยุทธศาสตร์อันเป็นพื้นฐานของความร่วมมือก็ยังคงมีความทันสมัยและจะยิ่งทวีความสำคัญโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนต่างๆ กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างดั่งเช่นสภาวะปัจจุบันนั่นเอง


Related Company News